วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

เริ่มต้นด้วยการฉายแสง ฉายรังษี

หลังจากผ่าตัดผ่านพ้นไป สองสัปดาห์ คุณหมอลักษณาก็ทำเรื่องส่งตัวให้ไปฉายแสงที่ศูนย์มะเร็งกรุงเทพ ซอยอารีย์ 1 วันแรกที่ไป พ่อมาจากบ้านไปเป็นเพื่อน มีน้อง ๆ ไปกันหมดเลย พ่อเป็นห่วง ว่าจะเดินทางลำบากไหม จะไปยังไง เพราะว่ามันอยู่ไกลจากที่พักมาพอสมควร เดินทางโดยรถสองแถวออกจากซอยบ้าน ไปขึ้นรถไฟฟ้าแอร์พอร์ทลิงค์ที่สถานี หัวหมาก ไปลงสุดทางสถานีพญาไท แล้วต่อ BTS จากพญาไท ไปลงสถานีอารีย์ ตอนแรกไม่รู้เลยว่ามันอยู่ที่ไหนของอารีย์ ไกลแค่ไหน ลึกแค่ไหน เลยเรียกแทกซี่ไป ปรากฏว่าเข้ามาในซอยประมาณ 500 เมตรเอง โอเคเดินทางสบาย เดินเข้ามาเองได้ ถ้าไม่ไหวก็ขึ้นวินมอเตอร์ไซค์ หมอนัดสามโมงเช้า แต่ปรากฏว่าหมอมาเกือบเที่ยง รอแล้วรอเล่า จนหงุดหงิด ในที่สุดก็ได้พบหมอ ชื่อคุณหมอเอกชัย คุณหมอให้ทำการฉายแสง 25 ครั้ง อาทิตย์ละ 5 ครั้งหยุดแสงสองวันคือ พฤหัส – ศุกร์ เริ่มวันนี้ก็ได้ฉายแสงเลย ตื่นเต้นมาก เพราะไม่รู้จะเจ็บปวดหรือเปล่า แสงจะเป็นยังไง พอถึงคิว เค้าเรียกไปห้องขีดเส้น หาบริเวณที่จะฉายแสง แล้วก็พาลงมารอคิวฉายแสง เค้าให้นอนอยู่บนแท่นฉายแสง เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ตัวใหญ่ ๆ เหมือนเราจะเข้า CT Scan เปิดตรงบริเวณที่จะฉาย ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย สัปดาห์แรก ไม่มีอาการอะไรมาก ปกติแทบทุกอย่าง แต่พอเข้าสัปดาห์ที่สอง ทองเสียทุกวัน แผลที่ลำไส้ที่เอามาไว้หน้าท้อง มีเลือดซึมออกมา สัปดาห์ที่สามมีแผลที่ก้น ประมาณเม็ดผื่นคัน แล้วแตกเป็นแผล ต้องไปโรงพยาบาลเอายามากิน ทา จึงหาย มีอาการปัสสาวะบ่อยมาก ทุกชั่วโมง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีปัสสาวะเล็ดเหมือนออกไม่หมด จนครบ 25 ครั้งอาการเริ่มทุเลาลง ทุกวันเสาร์จะต้องพบหมอก่อนจะฉายในอาทิตย์ต่อไป เพื่อดูอาการ ผลข้างเคียง แต่ผลเลือดทุกครั้งก่อนทำการฉายแสงในอาทิตย์ต่อมา บางคนบริเวณที่ฉายแสงจะดำ มีอาการแสบร้อน มีแผลหนอง หรือผิวหนังแข็งบริเวณที่ฉาย แต่เราโชคดี ไม่เป็นอะไรมาก มีแผลก็นิดหน่อย กินยาทายา ก็หาย จากนั้นหมอก็นัดให้มาใส่แร่อีก 4 ครั้ง

4 ความคิดเห็น:

  1. คำแนะนำในการปฏิบัติตัวเพื่อรับการรักษาด้วยรังสี
    ก่อนรับการรักษาด้วยรังสี
    • บำรุงร่างกายให้แข็งแรงเตรียมพร้อมรับการรักษา
    • มาขีดสีจำลองบริเวณฉายรังสีตรงตามวัน เวลาที่นัด
    • ในวันนัดขีดสี อาบน้ำและสระผมให้สะอาด ฟอกสบู่ชะล้างไขมันผิวหนังบริเวณที่จะฉายรังสีเพื่อให้สีที่ขีดติดดี ไม่ลบเลือนง่าย
    • สวมใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ สะดวกในการถอดและสวมใส่ สะอาดและอ่อนนุ่ม ไม่ควรใส่เครื่องประดับ,สร้อยคอ,เครื่องลางต่างๆ
    • เตรียมสิทธิบัตรต่างๆ, ใบส่งตัว, บัตรประชาชน (ที่ยังไม่หมดอายุ) พร้อมสำเนา มาด้วยทุกครั้ง
    • เตรียมที่พักระหว่างการรักษา เพราะอาจต้องใช้เวลาในการฉายรังสีติดต่อกันนาน ประมาณ ๑-๒ เดือน เช่น บ้านญาติที่อยู่ในเมืองเชียงใหม่ ฯลฯ ถ้ามีปัญหากรุณาแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป

    ตอบลบ
  2. ระหว่างการฉายรังสี
    • มาฉายรังสีตรงตามเวลาที่นัดนัดหมาย
    • ขณะที่ฉายรังสี นอนนิ่งๆตามท่าที่เจ้าหน้าที่จัดให้ อย่าขยับเพราะจะทำให้ลำรังสีผิดไปจากตำแหน่งเดิมได้ ใช้เวลาในการฉายแต่ละครั้งประมาณ ๕-๑๐ นาที ตลอดเวลาการฉาย จะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าดูโดยผ่านทางจอโทรทัศน์ หากท่านมีปัญหาสามารถพูดติดต่อได้ตลอดเวลา
    • ระวังไม่ให้เส้นที่ขีดลบ ถ้าลบเลือนไป ต้องพบแพทย์เพื่อขีดสีใหม่ ห้ามขีดเองโดยเด็ดขาด
    • ดูแลผิวหนังบริเวณที่ขีดสีกำหนดบริเวณที่ฉายรังสีให้แห้งและสะอาดอยู่เสมอ ถ้าผิวหนังบริเวณฉายรังสีเปียกชื้น ให้ซับเบาๆด้วยผ้าสะอาดและนุ่ม เพราะผิวหนังที่เปียกชื้นเมื่อถูกรังสีจะมีโอกาสทำให้เกิดแผลเปียกได้ง่าย และเป็นแผลหายช้า โดยทั่วไปจึงมักจะไม่ให้โดนน้ำ แต่ถ้าจำเป็นต้องอาบน้ำ ให้เลี่ยงบริเวณที่ขีดเส้นไว้
    • ภายในสัปดาห์แรก หลังจากฉายรังสี อาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ฉายได้ และหลังได้รับรังสีประมาณ 10-12 ครั้ง อาจมีอาการผื่นแดงเกิดขึ้นได้ แล้วแต่คน แต่อาการเหล่านี้จะหายไปเอง ภายหลังได้รับรังสีประมาณ ๒๐-๒๕ ครั้ง ผิวหนังจะมีสีคล้ำลง อาจมีจุดตามรูขุมขนและผิวหนังอาจลอกตกสะเก็ดได้
    • หลีกเลี่ยงการระคายเคืองผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีเพราะมีโอกาสที่จะเป็นแผลได้ง่ายกว่าปกติ ฉะนั้นจึงห้ามแกะเกาหรือปิดปลาสเตอร์, ระวังไม่ให้ถูกแดดจัดโดยตรง, ห้ามวางกระเป๋าน้ำแข็งหรือน้ำร้อน, ห้ามโกนผม/ขน/หนวดบริเวณที่ฉายรังสี ถ้ามีแผลเกิดขึ้นจะหายช้าและอาจลุกลามได้
    • แผลมักเกิดขึ้นเมื่อผิวหนังได้รับการเสียดสีตามขอบตะเข็บเสื้อผ้า, ขอบคอเสื้อ, ขอบกางเกงใน หรือเสื้อชั้นใน จึงควรเลือกใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆใส่สบาย ไม่รัดแน่น เนื้อผ้าอ่อนนุ่ม
    • ถ้ามีแผล ให้เช็ดแผลด้วยน้ำเกลือ ซับให้แห้ง แล้วแต้มแผลด้วยเจนเชี่ยนไวโอเล็ต(ที่ใช้ป้ายลิ้น) ปล่อยให้แห้งเอง ถ้าไม่จำเป็นอย่าใช้ผ้าก๊อซปิดแผลเพราะเวลาเปิดแผลจะทำให้เลือดออกได้ อย่าทาแผลด้วยน้ำยาที่มีฤทธิ์ระคายเคืองหรือมีโลหะหนักเป็นส่วนผสม เช่น ยาแดงที่ใช้ทาแผลสด เป็นต้น เพราะอณูของโลหะหนักที่เคลือบบนผิวหนังนี้ เมื่อได้รับรังสีจะเกิดการกระจายของรังสี ทำให้ผิวหนังได้รับปริมาณรังสีมากขึ้น เกิดภาวะแทรกซ้อนมากขึ้น ถ้าแผลกว้างมาก ต้องปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาหยุดฉายชั่วคราว และรักษาแผลให้ดีขึ้นก่อน ไม่ควรหยุดฉายเองเพราะจะเป็นผลเสียต่อการรักษา
    • รับการตรวจจากแพทย์สัปดาห์ละครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ห้องฉายจะเป็นผู้แจ้งให้ทราบ แต่ถ้ามีอาการผิดปกติหรือข้อขัดข้อง กรุณาแจ้งเจ้าหน้าที่ห้องฉายเพื่อขอรับการตรวจก่อนนัดปกติได้
    • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สะอาด เป็นอาหารอ่อน ย่อยง่าย และต้องได้ปริมาณแคลอรี่ที่เพียงพอ ได้แก่อาหารจำพวกข้าว,ข้าวกล้อง,ก๋วยเตี๋ยว,บะหมี่, มักกะโรนี, พวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น เนื้อหมู,เนื้อวัว,เป็ด,ไก่, กุ้ง,ปู,ปลา,หอย พวกนมและผลิตภัณฑ์จากนม,ไข่, ถั่วและเห็ดต่างๆ, พวกผักใบเขียว, ฟักทอง, แครอทและผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย,มังคุด,สับปะรด,มะละกอ,ส้ม ฯลฯ ในทางรังสีรักษา ไม่มีอาหารประเภทใดที่แสลงต่อรังสีรักษา แต่ควรงดเหล้า,บุหรี่,หมาก,เมี่ยง และจำกัดเครื่องดื่มประเภทน้ำชา กาแฟ
    • ถ้าเบื่ออาหารหรือรับประทานอาหารได้น้อยลง ต้องเพิ่มอาหารเสริม,นมถั่วเหลือง,นมสด หรือซุปต่างๆ เช่น ซุปเนื้อ, ซุปผัก, ซุปข้าวโพด ฯลฯ แทรกในระหว่างมื้ออาหารหลัก ถ้ามีโรคอื่นๆร่วมด้วย เช่น เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ก็ต้องจำกัดอาหารบางประเภทตามวิธีการรักษาของโรคนั้นๆ
    • ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว เพราะน้ำจะช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย และยังช่วยระบายความร้อนอีกด้วย
    • ยาอื่นๆที่ได้จากแพทย์อื่นๆ เช่น ยาควบคุมน้ำตาลในเลือดหรือความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ ต้องรับประทานยานั้นตามปกติ และต้องไปรับการตรวจและรักษาต่อกับแพทย์นั้นๆ ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และควรแจ้งแพทย์รังสีรักษาให้ทราบด้วย
    • หลีกเลี่ยงการใช้ฮอร์โมนทั้งที่ผสมในวิตามิน ยาคุมกำเนิด หรือเครื่องสำอางต่างๆ เพราะอาจมีผลในทางลบต่อการควบคุมโรค ยกเว้นกรณีที่แพทย์สั่ง
    • ออกกำลังกายตามความสามารถที่จะทำได้ หรือถ้านอนในโรงพยาบาล ควรหมั่นบริหารแขน ขา และพลิกตัวไปมา
    • พักผ่อนให้เพียงพอ เมื่อมีอาการอ่อนเพลีย ควรหาเวลางีบพักในช่วงเวลากลางวันและนอนนานขึ้นในเวลากลางคืน
    • ขับถ่ายอุจจาระทุกวัน อย่าให้ท้องผูก อาจมีอาการท้องเสียบ้างแต่มักไม่รุนแรง ถ้าท้องเสียควรงดอาหารรสจัด ของหมักดอง นมและอาหารที่มีนมเป็นส่วนประกอบ ผักและผลไม้ไว้ชั่วคราว ถ้าอาการรุนแรง ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษา
    • ฝึกจิตใจให้สงบ หางานอดิเรกทำ เช่น อ่านหนังสือ,เขียนบันทึก,วาดรูป,ฟังวิทยุ,ทำงานฝีมือ,เย็บปักถักร้อย,งานจักสาน,ปลูกต้นไม้ หรือสวดมนต์ ฝึกสมาธิ เป็นต้น
    • มะเร็งไม่ใช่โรคติดต่อ การฉายรังสีและการใส่แร่ไม่มีรังสีตกค้างในตัวจึงปลอดภัยและสามารถคลุกคลีได้กับทุกๆคนตามปกติ แม้แต่กับเด็กๆ หรือคนชรา

    ตอบลบ
  3. หลังครบรังสีรักษาแล้ว
    • มาตรวจตามวันที่นัดทุกครั้งอย่างสม่ำเสมอและตลอดไป เพื่อติดตามผลการรักษา, เพื่อป้องกันและรักษาโรคไม่ให้กลับคืนอีก, เพื่อป้องกันและรักษาผลข้างเคียงจากการรักษาที่อาจเกิดขึ้นได้, เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของโรคไปยังอวัยวะอื่นๆ, เพื่อตรวจหามะเร็งชนิดอื่นๆเกิดขึ้นที่อวัยวะใดอีกบ้าง จะได้รักษาทันท่วงที เพราะถ้าเคยเป็นมะเร็งมาแล้ว มักมีโอกาสเป็นมะเร็งอวัยวะอื่นๆด้วย
    • หลังฉายรังสีครบแล้ว ยังต้องดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสีเหมือนขณะที่ฉายรังสีต่อไปอีกประมาณ ๒-๔ สัปดาห์โดยรักษาผิวหนังให้แห้งและสะอาด
    • ถ้ามีแผล ควรดูแลเช่นเดียวกับขณะฉายรังสี จนกว่าแผลจะหายดี
    • บำรุงร่างกายให้กลับมาแข็งแรงด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์, การออกกำลังกายในที่มีอากาศบริสุทธิ์ และทำจิตใจให้สบาย ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไป จิตใจที่สงบจะช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
    • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์
    • สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงงานหนัก การไปเที่ยวในสถานที่ต่างๆหรือไปต่างประเทศก็ไปได้ถ้าสภาพร่างกายแข็งแรงพอ
    • การมีเพศสัมพันธ์ สามารถทำได้ตามปกติ
    • ให้สังเกตอาการผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้ามีตุ่มหรือก้อนเกิดขึ้นอีก ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว

    ตอบลบ
  4. เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ร่วมชะตากรรมนี้ด้วยกัน มนต์เป็นอีกคนที่สู้มาจนถึงที่สุด ตอนนี้ก็ใช้ชีวิตปกติ เหมือนคนปกติทั่วไป แม้จะมีลำใส้อยู่หน้าท้อง ขับถ่ายไม่เหมือนคนปกติ แต่ก็ยังสู้ และพยายามไม่เป็นภาระใคร ไปไหนมาไหนคนเดียวได้ อย่าเสียใจถ้าบางครั้งเราอาจจะดูเหมือนคนถูกทอดทิ้ง เพราะถ้ามองตามหลักของความเป็นจริงแล้ว คนเราย่อมรักตัวเองที่สุด ถ้าเขามีเราแล้วลำบาก น้อยมากที่จะลำบากไปด้วยกัน ส่วนมากก็จะจากเราไปเงียบ ๆ ไม่มีเหตุผล แต่ถ้าคุณเจอคนที่ยอมลำบากไปด้วยกัน อยู่เป็นเพื่อนกัน คุณโชคดีมากแล้วค่ะ ใครอยากพูดคุยดัวย เมลล์มาหามนต์ได้ lamduantanjapo970@gmial.com

    ตอบลบ